เช็คอาการปวดท้องน้อยสำหรับสาวๆผู้ชอบมีอาการปวดท้องบ่อยๆ

อาการปวดท้องน้อย

สำหรับเพื่อนสาวที่ชอบมีการปวดท้องควรได้อ่านเรื่องราวนี้เกี่ยวกับอาการปวดท้องน้อย โดย ภญ.นิภาพรรณ มาอยู่ดีปวดท้องน้อย…ปัญหาที่ไม่น้อยสำหรับผู้หญิง

อาการปวดท้องน้อยจะเกิดบริเวณใต้สะดือ มี 2 แบบคือ อาการปวดท้องน้อยแบบฉับพลันทันทีทันใด ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ติดเชื้อ หรือมีการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกาย และอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ซึ่งจะมีอาการปวดติดต่อกันเกิน 6 เดือนขึ้นไป เกิดขึ้นได้ทั้งจากความผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกายและด้านจิตใจ แต่วันนี้อยากชวนสาวๆ มาทำความรู้จักกับอาการปวดท้องน้อยกันให้มากขึ้น

Q: จริงหรือไม่ที่ผู้หญิงมีอาการปวดท้องน้อยมากกว่าผู้ชาย

A. โดยทั่วไปพบว่า ผู้หญิงในช่วงวัยเจริญพันธุ์ร้อยละ 15-40 มีโอกาสเกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และพบว่าผู้หญิงจะเกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังมากกว่าผู้ชายในอัตราส่วน 9:1 โดยส่วนใหญ่สาเหตุที่ทำให้ผู้ชายมีอาการปวดท้องน้อยจะเกิดจากต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง

Q. สาเหตุของอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังในผู้หญิงส่วนใหญ่เกิดจากอะไร

A. ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ เช่น ช่องคลอด มดลูก ปีกมดลูก หรือจากระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และด้านจิตใจ โดยอาการปวดท้องเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ อาการปวดอาจกลับมาเป็นซ้ำในช่วงที่มีประจำเดือน หรืออาจจะไม่ความสัมพันธ์กับช่วงที่มีประจำเดือนก็ได้ โดยสาเหตุที่พบบ่อยมี 3 สาเหตุ คือ

– อาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน ลักษณะจะปวดคล้ายเข็มแทง หรือปวดเกร็งเป็นระยะเวลา 2-3 วันก่อนหรือในวันที่เริ่มมีประจำเดือนวันแรก บ่อยครั้งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องผูก ท้องเสีย หรือปัสสาวะบ่อย โดยทั่วไปจะมีอาการปวดมากภายใน 24 ชั่วโมง แต่บางครั้งอาจปวดนาน 2-3 วันหลังจากเริ่มมีประจำเดือน

– อาการปวดท้องน้อยในช่วงที่มีไข่ตกในช่วงกึ่งกลางของรอบเดือน จะมีอาการปวดที่รุนแรงมากในช่วงเริ่มต้น หลังจากนั้นจะบรรเทาลงภายหลัง 1-2 วันไปแล้ว และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอย เป็นรอยจุดจางๆ โดยสาเหตุทั่วไปจะเกิดจากเยื่อบุช่องท้องอักเสบ เนื่องจากการแตกของถุงน้ำในรังไข่

– ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ทำให้เกิดพังผืดและเกิดการอักเสบ ลักษณะการปวดจะปวดแบบมีเข็มมาแทง หรือปวดเกร็งในช่วงก่อนและระหว่างที่เริ่มมีประจำเดือน อาการร่วมอื่นๆ ที่พบบ่อยคือ ปวดท้องขณะมีประจำเดือน เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือปวดในขณะถ่ายอุจจาระ อาการที่ปวดส่วนใหญ่จะไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน การตรวจวินิจฉัยอาจต้องผ่าตัดส่องกล้องผ่านผนังหน้าท้องเพื่อเข้าไปดูอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานที่ผิดปกติ

Q. สาเหตุทางด้านจิตใจที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังมีอะไรบ้าง

A. สาเหตุความผิดปกติทางด้านจิตใจที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง เช่น โรคโซมาโตฟอร์ม (somatoform disorder) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่งที่เสมือนว่าตัวเองมีโรคหรือมีอาการผิดปกติทางกาย แต่ไม่สามารถวินิจฉัยระบุหาสาเหตุทางกายได้ หรือการมีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ปัญหาด้านการนอนหลับ หรือการใช้สารเสพติด

Q. ลักษณะอาการแบบไหนที่บ่งบอกว่ารุนแรง และควรรีบไปพบแพทย์ทันที

A. ลักษณะอาการที่บ่งบอกว่ารุนแรง ได้แก่
– หมดสติ หรือภาวะช็อคจากการเสียเลือดมาก
– บริเวณหน้าท้องมีอาการกดเจ็บ และแข็งเกร็ง
– มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน
– มีไข้ หรือหนาวสั่น
– มีอาการปวดรุนแรง ฉับพลันทันทีทันใด ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกท่วมตัว หรือมีอาการกระสับกระส่ายร่วมด้วย

Q. ในช่วงเริ่มตั้งครรภ์มีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ปวดท้องน้อยเรื้อรัง

A. สาเหตุที่พบส่วนใหญ่เกิดจากการแท้งบุตร หรืออาจเกิดจากสาเหตุที่รุนแรง เช่น การแตกและตกเลือดของภาวะท้องนอกมดลูก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้หญิงเกิดภาวะท้องนอกมดลูก ได้แก่ เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือมีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน การสูบบุหรี่ เคยใช้ห่วงคุมกำเนิด อายุมากกว่า 35 ปี เคยได้รับการผ่าตัดทางช่องท้อง เคยใช้ยาหรือเทคนิคการกระตุ้นให้ไข่ตก เคยมีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน หรือเคยมีประวัติสำส่อนทางเพศ

Q. อาหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปวดท้องน้อยเรื้อรังหรือไม่

A. อาหารชนิดที่ทำให้เกิดลมในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง เช่น ในคนที่แพ้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คนที่ชอบดื่มกาแฟ รับประทานอาหารรสจัด และเนื้อสัตว์ คนที่แพ้สารกลูเตนในอาหารจำพวกธัญพืช ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ขนมปัง ข้าวโอ๊ต และพาย ทำให้ลำไส้เล็กเกิดการอักเสบ ไม่สามารถดูดซึมวิตามิน หรือสารอาหารที่จำเป็นได้ จึงทำให้เกิดการขาดสารอาหาร และมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง

Q. แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุด้วยวิธีใดบ้าง

A. นอกจากการซักประวัติตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องถูกเจาะตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจภายในช่องคลอด ทำอัลตราซาวด์บริเวณหน้าท้อง หรือผ่าตัดส่องกล้องผ่านผนังหน้าท้องเพื่อเข้าไปดูอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานที่ผิดปกติ

Q. เราจะบอกอาการปวดท้องน้อยกับแพทย์ได้อย่างไร

A. – บรรยายลักษณะของอาการปวด และสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด
– มีเหตุการณ์อะไรก่อนเริ่มมีอาการปวดที่น่าจะเกี่ยวข้องได้บ้าง
– มีอาการปวดมานานแค่ไหน เป็นระยะเวลากี่เดือนหรือกี่ปี
– ประเมินระดับความรุนแรงของอาการปวดใน 1 เดือนที่ผ่านมา จาก 0-10 ระดับ ระดับ 0 คือไม่ปวด จนถึงระดับ 10 คือมีอาการปวดมากเกินบรรยาย
– อาการปวดเกิดขึ้นในช่วงใด เช่น ปวดในช่วงที่มีการตกไข่ ปวดในช่วงก่อนเริ่มมีประจำเดือน ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์หรือภายหลัง ปวดบริเวณขาหนีบเมื่อยกหรือยืดขา ปวดเมื่อกระเพาะปัสสาวะเต็ม ปวดขณะถ่ายปัสสาวะ ปวดขณะที่เป็นไมเกรน เป็นต้น
– มีอะไรบ้างที่ช่วยให้อาการปวดท้องน้อยดีขึ้น เช่น การนั่งสมาธิ การนวด การใช้ยาบรรเทาปวด การอยู่ในภาวะผ่อนคลาย การใช้ยาสวนหรือยาระบาย การถ่ายปัสสาวะ การนอน การฟังเพลง หรือการอาบน้ำอุ่น เป็นต้น
– ลักษณะอาการปวดเป็นแบบไหน เช่น ปวดตุ้บๆ ปวดแปลบ ปวดเกร็ง ปวดแสบปวดร้อน ปวดหนักๆ กดแล้วปวด หรือปวดระบม เป็นต้น
– สามารถระบุชี้ตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจนหรือไม่

Q. ปวดท้องน้อยเรื้อรังสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่

A. การรักษาอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด โดยมีวิธีดังต่อไปนี้ เช่น
– การรับประทานยาบรรเทาอาการปวด
– การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
– การเปลี่ยนแปลงอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ
– การทำกายภาพบำบัด
– การบำบัดด้วยการพูดคุย หรือการได้รับคำปรึกษาแบบอื่นๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงสาเหตุของอาการปวดและแนวทางการรักษาได้มากขึ้น ช่วยลดอาการวิตกกังวลให้น้อยลง
– การรักษาด้วยการผ่าตัด

ถ้ามีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นรักษายากหรือต้องผ่าตัด

วิธีการ, เรื่องน่ารู้  |   , ,
ล้อแม็กLenso ผู้ผลิต ล้อแม็ก ยอดขายอันดับ 1 ในประเทศไทย