อาการคิ้วกระตุกบอกอะไรเราบ้างนอกจากเรื่องดวงโชคลาภ

ตากระตุก เกิดจากอะไรกันนะ

อาการคิ้วกระตุกบอกอะไรเราบ้างนอกจากเรื่องดวงโชคลาภ
ศูนย์ประสาทและสมอง โรงพยาบาลธนบุรี ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา “ตากระตุกหน้ากระตุก” ว่าไม่ใช่แค่ความเชื่อที่มักกล่าวกันว่า “ตาเขม่นขวาร้ายซ้ายดี” เท่านั้น แต่ถือเป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่เรียกว่า โรคกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ดังนี้

ตากระตุก หรือที่เรียกว่า ตาเขม่น เป็นภาวะที่มีการกระตุกของกล้ามเนื้อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว เช่น ใต้หนังตา มุมปาก หรือเฉพาะกล้ามเนื้อรอบลูกตาข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ภาวะนี้ในบางรายอาจเกิดเป็นประจำจนอาจติดเป็นนิสัยได้ มักจะมีอาการกระตุกมากเวลาเครียดหรือกังวลใจ รวมทั้งการพักผ่อนไม่เพียงพอก็อาจก่อให้เกิดอาการตาเขม่นได้บ่อยๆ และถ้าได้รับการพักผ่อนที่เพียงพออาการเหล่านี้ก็จะหายได้เอง

ตากะพริบค้าง (Blepharospasm) ภาวะนี้ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกายที่เรียกว่า ดีสโทเนีย (Dystonia) ผู้ป่วยจะมีตากะพริบทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อรอบลูกตาหดเกร็งตัวตลอดเวลา ในผู้ป่วยกลุ่มนี้เราสามารถแบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ กะพริบตาถี่ ๆ หรือกะพริบตาปิดค้างและลืมตาไม่ขึ้น

ใบหน้ากระตุกครึ่งซีก (Hemifacial Spasm) ภาวะนี้เป็นความเคลื่อนไหวผิดปกติที่พบบ่อยในคนไทย โดยจะพบว่ากล้ามเนื้อใบหน้าทั้งซีกที่เลี้ยงด้วยประสาทสมองคู่ที่ 7 จะมีการกระตุกถี่ ๆ และเกร็งค้าง อาการของโรคนี้จะก่อให้เกิดความรำคาญและทำให้ผู้ป่วยอายไม่กล้าเข้าสังคม ซึ่งเป็นโรคที่ไม่รุนแรงแต่รักษาไม่หาย อาการกระตุกจะเป็นมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยตื่นเต้น ตกใจ หรือกังวล

อาการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อใบหน้าบริเวณแนวตรงกลางทั้งหมด (Meige Syndrome) ซึ่งจะประกอบด้วยอาการตากะพริบค้างร่วมกับการเคลื่อนไหวผิดปกติของปาก จมูก และคิ้วร่วมด้วย กลุ่มอาการนี้ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวผิดปกติชนิดดีสโทเนีย

การเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อบริเวณรอบปาก คาง และลิ้น (Orofacial Dyskinesia) จะมีผลทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาของปาก คาง และลิ้น ภาวะนี้ส่วนมากเกิดจากการแพ้ยากลุ่มยากล่อมประสาทหลัก หรือยากลุ่มที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน ซึ่งโดยมากมักจะพบในผู้สูงอายุ

การรักษาผู้ป่วยในโรคนี้ คือ การใช้สารโบทูลินัม ท็อกซิน เอ ฉีดเข้าไปใร่างกาย ซึ่งจะรักษาโรคได้เพียงชั่วคราว ประมาณ 2-4 เดือน และผู้ป่วยจำเป็นต้องกลับมารับการรักษาซ้ำ วิธีการฉีดนี้เป็นวิธีที่ปลอดภัย และยังได้ผลดีขึ้นถึง 70-75% ไม่เสี่ยงต่อชีวิตของผู้ป่วยเหมือนการผ่าตัด แต่ก็มีข้อจำกัดในการรักษาด้วยสารโบทูลินัม ท็อกซิน เอ คือ มีราคาแพง ฤทธิ์ของยาอยู่ได้เพียงชั่วคราวต้องกลับมาฉีดซ้ำอีก และมีผลแทรกซ้อนของการฉีด ได้แก่ ตาแห้ง น้ำตาไหลเยอะ หนังตาตก ตาสู้แสงไม่ได้ เห็นภาพซ้อน เลือดออกบริเวณที่ฉีด ปากเบี้ยว ฝืดคอ และมีผื่นตามลำตัว แต่อาการทั้งหมดจะเป็นเพียงชั่วคราวแล้วจะค่อยๆ หายเอง

ผิวหน้า, วิธีการ, เรื่องน่ารู้  |  
ชมเว็บไซต์lensotires ผู้ผลิตยางรถยนต์ในประเทศไทย